061 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ - - พฤศจิกายน ๒๕๒๖
พิณ ๓ สาย

ผู้เข้าใจทฤษฎีพิณ ๓ สาย คือผู้ที่รู้จัก ต้น กลาง สูง รู้จักความประมาณที่พอดี คำว่าเป็นกลาง พิณ ๓ สายนั้น จะต้องตึงทั้ง ๓ สาย ตึงอยู่ในระดับพอดี เราจึงจะรู้เสียงของพิณสายต่ำ พิณสายกลาง และ พิณสายสูง ชัดเจน แต่ผู้ที่ไม่รู้เช่นนี้ จึงเอาความพอใจเป็นที่ตั้ง และไม่มีความเคร่งครัด หรือ ความตึง อันพอดีของตนเอง จะประมาณเป็นความหย่อน ให้แก่กิเลสนั้น เป็นธรรมดาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ผู้เข้าใจความหมาย ในหลักของพิณ ๓ สาย ดังกล่าวนี้ จึงจะเป็นผู้ที่เคร่งครัดต่อศีล ต่อสมาธิ ต่อปัญญา ของตน ที่จะพยายาม มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม เคร่งครัด และตึงอยู่ในศีล อันที่ได้ประมาณแก่ตนแล้ว พยายามทำให้จิตใจของตน ได้รับผลขึ้นไปหาเสียงสูง ขึ้นไปหาทิศสูง อยู่เสมอๆ ผู้ไม่เข้าใจ ดังนี้ จะปฏิบัติพิณ ๓ สาย อย่างเอาจิตใจกิเลส แล้วก็จะหล่น หรือหย่อนลงมา หาความชอบของกิเลส และ ได้ตกหล่น เสื่อมลงไปทั้งหมด

ส่วนผู้ที่เข้าใจอย่างชัดแจ้ง ในทฤษฎีพิณ ๓ สาย รู้ว่าทิศทางที่จะดึงเส้นที่กลาง ถ้าเขม็งขึ้นไป ก็จะขึ้นไปหา เส้นที่สูง หรือทิศสูงอยู่เสมอ ไม่ใช่ตายตัวอยู่กับที่

ขอให้สังวรระวัง การปฏิบัติตามทฤษฎีพิณ ๓ สาย ดังกล่าวนี้ ให้ถูกความหมาย เฉพาะตนๆ นั่นคือ การปฏิบัติ มัชฌิมาปฏิปทา สำหรับตน แต่มีทิศเดินทางที่สูงขึ้น ถูกต้องตามความหมาย ที่พระพุทธองค์ ท่านหมาย.

 

ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖